Accessibility Tools

     ศาลแรงงานภาค ๓ (นครราชสีมา)
            Labour Court of Region 3
image

ศาลแรงงานภาค 3 (นครราชสีมา)

พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงร.9 ทรงมีต่อศาลยุติธรรมimage

พระราชกรณียกิจ พระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงร.9 ทรงมีต่อศาลยุติธรรม

หมายเหตุ – นายนิกร ทัสสโร ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์ มติชน ถึงพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อสถาบันศาลยุติธรรม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อสถาบันศาลยุติธรรม มติชน สัมภาษณ์พิเศษ นายนิกร ทัสสโร ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อสถาบันศาลยุติธรรม

นายนิกรเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีทั้งส่วนที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณและพระราชเมตตาคุณ โดยพระมหากรุณาธิคุณนั้นเริ่มตั้งแต่ที่พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้พิพากษาอันเป็นพระราชานุกิจของพระมหากษัตริย์ตามนิติราชประเพณีมาแต่เดิม สืบต่อเนื่องมาถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ผู้พิพากษาตุลาการพ้นจากตำแหน่ง และการพิจารณาพิพากษาคดีต้องดำเนินการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ด้านพระราชเมตตา แบ่งได้เป็นหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้พิพากษา ยังให้เกิดความรู้ในการปฏิบัติงานและเกิดความตระหนักในการครองตน โดยเฉพาะได้สำนึกว่า หากทำไม่ดีแล้วพระองค์ต้องทรงเดือดร้อน เนื่องจากผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยของพระองค์ท่าน จึงนับว่าทรงมีพระราชเมตตาทรงสั่งสอนอบรมผู้พิพากษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่โปรดให้ผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระราชเมตตาแก่ผู้พิพากษาอยู่ทุกคราว

พระราชเมตตาอีกส่วนหนึ่ง คือ พระราชกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินไปศาลสถิตยุติธรรม ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินไปศาลสถิตยุติธรรมและมีพระราชดำรัสว่าศาลเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว พระองค์ยังมีพระราชเมตตายิ่งขึ้นอีก โดยประทับบัลลังก์ในขณะที่ผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีจำนวนหลายคดี และหลายศาล ตราบจนทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้พิพากษา ข้าราชการศาลยุติธรรม ล้วนระลึกถึงพระราชเมตตานี้เป็นล้นพ้น

นายนิกรเล่าถึงการเสด็จฯศาลสถิตยุติธรรมครั้งแรก ว่าต้องย้อนไปตั้งแต่ที่พระองค์ท่านยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ เป็นสมเด็จพระราชอนุชา ในรัชกาลที่ 8 โดยศาลแรกที่เสด็จฯคือ ศาลจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2489 มีภาพที่บันทึกไว้อยู่ เป็นภาพที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งและหาดูได้ยาก

ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการเสด็จฯไปศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2489 ครั้งนั้นพระองค์ท่านและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ประทับบัลลังก์ศาล ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ขณะนี้ จ.ฉะเชิงเทรา ได้รักษาอาคารศาลนี้ไว้เป็นอย่างดี และศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้เก็บบัลลังก์ที่ประทับไว้อย่างรู้ในคุณค่าที่ล้นเกล้าฯทั้ง 2 พระองค์ทรงมีพระราชเมตตาคุณแก่ศาลยุติธรรม

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติแล้ว พระองค์ได้เสด็จฯไปศาลยุติธรรมเป็นครั้งแรกในรัชสมัย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2495 โดยเสด็จฯที่กระทรวงยุติธรรม ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอาญา และศาลแพ่ง สถานที่แห่งนั้นในปัจจุบันคือ ศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน นายนิกรเล่าถึงลำดับเวลาการประทับบัลลังก์ศาลต่อไปว่า ครั้งแรกในวันที่ 26 มกราคม 2495 พระองค์ประทับบัลลังก์ที่ 12 ของศาลอาญาก่อน ทรงฟังการพิจารณาคดีอาญาข้อหาลักทรัพย์ จากนั้นเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังศาลแพ่ง ประทับทรงรับฟังการพิจารณาคดีที่บัลลังก์ 4 เหตุการณ์หลังจากนั้นพระองค์ท่านยังได้เสด็จพระราชดำเนินประทับบัลลังก์ศาลอีกหลายศาล อาทิ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 8 มีนาคม 2501 ศาลจังหวัดสงขลา วันที่ 18 มีนาคม 2502 ศาลจังหวัดปัตตานี วันที่ 23 มีนาคม ในปีเดียวกัน และเสด็จฯไปศาลจังหวัดเชียงใหม่อีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2527

สำหรับปรัชญาของตุลาการที่ได้จากพระราชดำรัส นายนิกรกล่าวว่า ประการแรกคือ ทรงย้ำต่อผู้พิพากษาถึงความหมายของการทำงานในพระปรมาภิไธยว่า ถ้าได้เห็นท่านทั้งหลายปฏิบัติดีชอบ จริงๆ ก็สบายใจ แต่ถ้าสงสัยว่าท่านจะทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเดือดร้อน

ประการต่อมา คือ ให้ทำงานโดยปราศจากอคติ พระองค์ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า ไปในทางที่ควรไป ทางที่ควรจะไปนั้นคืออะไร ก็คือความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความตั้งใจแน่วแน่ ความตั้งใจที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงอธิบายเรื่องอุเบกขาว่า คำว่าอุเบกขาหรือความเป็นกลางไม่ได้หมายความว่านิ่งเฉย หรือไม่รับฟังใดๆ ตรงกันข้ามผู้พิพากษาจะต้องรับฟัง…เอามาไว้ที่ใจ ไม่ใช่มาปรุงแต่งให้เข้าข้างในสิ่งที่มีอยู่ในใจ…ไม่ใช่มาบิดเบือน

ประการต่อมา พระองค์ทรงเน้นย้ำให้ผู้พิพากษารักษาความยุติธรรม วางตัวให้ดี ไม่ให้เห็นแก่อามิสสินจ้าง ที่มีการเอามาล่อ ถ้าไม่มีความยุติธรรมบ้านเมืองก็จะล่มจม…ถ้าท่านวางตัวดีนอกศาลด้วย จะมีเป็นความเป็นผู้พิพากษาที่ครบถ้วน ทำให้คนเขานับถือได้ และอีกตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ว่า

ขอฝากความยุติธรรม ความดีของประเทศอยู่กับท่านทั้งหลาย เป็นงานที่ไม่ใช่ง่าย เพราะมีอะไรต่ออะไรมาล่ออยู่เรื่อย มีการล่อด้วยอามิส มีการล่อด้วยการยั่วยุ มีการล่อด้วยเหมือนจะให้รางวัล ซึ่งรางวัลของท่านไม่มีสิ่งอื่นใด คือความยุติธรรม ท่านต้องรักษาความดี ความฉลาด ความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าท่านทำได้อย่างนี้แล้ว สิ่งที่ท่านปฏิญาณ…ก็เป็นผลดี ทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข

นายนิกรกล่าวว่า พระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านได้ฝากความยุติธรรมของประเทศไว้กับผู้พิพากษา และจากพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ท่านผู้พิพากษาได้รักษาสถานภาพ ในความเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

นายนิกรยังเล่าถึงวันที่เคยเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนในปี 2536 ว่า การเป็นผู้พิพากษานั้นแม้จะสอบได้แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องครองตน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นมงคลแก่ชีวิตก็คือ การได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาและการเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ ส่วนนี้ผมรู้สึกมีความปลาบปลื้มใจยิ่งกว่าตอนสอบได้มาก ผู้พิพากษานั้นแม้จะได้รับการโปรดเกล้าฯแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงชื่อในคำสั่งหรือคำพิพากษาได้ จะทำได้ต่อเมื่อได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ในปีนั้นผมได้เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสเข้าไปในพระตำหนัก โดยรุ่นผมมีทั้งหมด 138 คน ผมยังจำได้กระทั่งพระวิสูตรหรือผ้าม่านที่ประดับตกแต่ง หลังจากที่กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วก็รอฟังพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านพระราชทานให้ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกต คือพระองค์จะทรงมีพระราชเมตตาพระราชทานพรให้ด้วยŽ

พระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในวาระที่ผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯหรือถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเปรียบเสมือนหนึ่งว่าแม้พระองค์ท่านจะได้เสด็จสวรรคตแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ต่อไปคือคำสอน เสมือนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือพระธรรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่คงอยู่กับผู้พิพากษาคือพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่มอบไว้ให้ในวาระที่ผู้พิพากษาเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ

นายนิกรยังได้เล่าถึงเกร็ดประวัติเพิ่มเติมอีกว่า หากดูตามพระราชประวัติแล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในกิจการของศาลตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น คิดว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ที่พระองค์ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์ และเมื่อได้เสด็จฯไปศาลยุติธรรมครั้งแรกในรัชสมัยแล้ว ในวันที่ 15 ตุลาคม 2497 โปรดให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายจรูญ ปิยสิรานนท์ หัวหน้ากองกลางเข้าเฝ้าฯ เพื่อที่จะนำเครื่องบันทึกเสียงคำพยาน ให้พระองค์ท่านทอดพระเนตรดูการทำงานของเครื่องมือเหล่านี้ เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้พิพากษาบันทึกคำพยานได้รวดเร็วขึ้น ต่อมาในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ศาลได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยในการดำเนินกระบวนพิจารณาครบทุกศาล

เกร็ดอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นการส่วนพระองค์ คือเรื่องของผู้พิพากษาที่เป็นบรรพตุลาการบางท่านได้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทราชสกุลมหิดลมาตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ ผู้พิพากษาท่านนั้นก็คือ คุณพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ ในทางประวัติของบรรพตุลาการคุณพระท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พิพากษาที่ครองความเป็นอิสระของตุลาการไว้ได้อย่างน่ายกย่องที่สุด

นายนิกรกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผู้พิพากษาที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะที่เป็นองคมนตรี ซึ่งผู้พิพากษาที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ของวงการศาลมักจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ปฏิบัติหน้าที่องคมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาตลอด มีการทำหน้าที่เป็นองคมนตรีมาต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายจิตติ ติงศภัทิย์ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายจำรัส เขมะจารุ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ นายศุภชัย ภู่งาม หลายท่านเหล่านี้ถือว่าได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทโดยที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ยังความภาคภูมิใจของผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมว่า บรรพตุลาการฝ่ายศาลยุติธรรมได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9

ท้ายที่สุดนายนิกรเล่าถึงการก่อสร้างศาลฎีกาเฉลิมพระเกียรติ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ที่เป็นวาระมหามงคล ว่า เดิมศาลฎีกาไม่เคยมีอาคารเป็นของตนเองเป็นการเฉพาะตั้งเเต่รัชสมัยล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน ศาลฎีกาจึงมักจะใช้อาคารของส่วนราชการอื่นหรือศาลอื่น เป็นที่ทำการอยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อถึงวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ได้มีโครงการนี้ขึ้น จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นเเรงบันดาลใจให้ผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการเเก้ปัญหาสำหรับการก่อสร้างโครงการนี้

ปัจจุบันโครงการก่อสร้างดังกล่าวคืบหน้ามากแล้ว ตามสัญญาวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะสร้างเเล้วเสร็จ การก่อสร้างศาลฎีกาครั้งนี้นอกจากจะเป็นการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่ใช้สถาปัตยกรรมไทยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 9 เเล้ว ในส่วนอาคารศาลยุติธรรม เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จพระราชดำเนินครั้งเเรกเเห่งรัชสมัย ทางศาลยุติธรรมได้รักษาอาคารประวัติศาสตร์นี้เป็นที่ระลึกในวาระมหามงคลดังกล่าว ไว้คู่เคียงในสถานที่เดียวกันกับอาคารศาลฎีกา

นับว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่เหมาะสมกับพระเกียรติยศเเละเหมาะสมกับการที่ศาลยุติธรรมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาตลอดรัชสมัย

ที่มา : เว็บไซต์มติชน